ธุรกิจ E-Commerce คืออะไร เหมือนธุรกิจออนไลน์หรือเปล่านะ

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในปัจจุบัน โลกออนไลน์มีผลต่อการใช้ชีวิตของคนเราอย่างมาก การทำธุรกิจก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมผู้บริโภค จึงมีร้านค้าที่ก้าวเข้าสู่โลก E-Commerce (อีคอมเมิร์ซ) กันมากขึ้น การศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับการทำธุรกิจออนไลน์และกลยุทธ์การตลาดในการโปรโมทสินค้าผ่านอินเตอร์เน็ตจึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะทำให้สามารถขายสินค้าและเอาชนะคู่แข่งที่มีจำนวนมากได้ ดังนั้นการทำธุรกิจผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือ E-Commerce (อีคอมเมิร์ซ) จึงเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการหันมาสนใจกันมาก แล้วการทำ E-Commerce คืออะไร ? แตกต่างกับธุรกิจทั่วไปอย่างไร ?

E-Commerce คืออะไร ?

E-Commerce (อีคอมเมิร์ซ) คือ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ การทำธุรกิจโดยใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์เป็นหลักนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายสินค้าและบริการ การโฆษณา โดยมีสื่ออิเล็กทรอนิกส์คือตัวกลาง ทั้งทางโทรศัพท์ โทรทัศน์ วิทยุ และอินเทอร์เน็ต

ประเภทของ E-commerce

1. ร้านค้าออนไลน์ (Online Stores)

สิ่งแรกเลยก็คือเว็บไซต์ขายของออนไลน์ทั่วไป ผู้ขายหรือร้านค้าธุรกิจสามารถสร้างเว็บไซต์ขึ้นมาเพื่อขายสินค้าของตัวเองได้ โดยที่ข้อความซับซ้อนของเว็บไซต์ก็ขึ้นอยู่กับชนิดของสินค้า และพฤติกรรมของผู้ใช้งาน

2. เว็บไซต์สื่อกลาง (Marketplace)

เป็นธุรกิจขายของออนไลน์ที่ทำตัวเป็นสื่อกลางระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย คนไทยก็อาจจะรู้จักเว็บไซต์ต่างๆเช่น Shopee Lazada

3. ขายของออนไลน์ผ่านโลกโซเชียล (Social Commerce)

สำหรับบางธุรกิจ การขายของออนไลน์ก็ไม่ได้จำกัดว่าตัวเองต้องมีเว็บไซต์ หรือต้องไปฝากพ่อค้าคนกลางคนอื่นขาย พ่อค้าแม่ค้าบางคนสามารถเปิดร้านบน Facebook หรือ Instagram เพื่อทำการโฆษณา พูดคุยกับลูกค้า และปิดการขายได้ภายในทีเดียว ข้อดีก็คือโลกโซเชียลมีฐานลูกค้าเยอะอยู่แล้ว แต่ข้อเสียก็คือร้านค้าส่วนมากก็ต้องอยู่ในกฎเกณฑ์ของเว็บไซต์นั้นๆ

ความแตกต่างระหว่าง E-Commerce และธุรกิจทั่วไป

1. มีต้นทุนการขายที่ต่ำ เพราะไม่ต้องพึ่งหน้าร้าน

การทำเว็บไซต์มีค่าใช้จ่ายที่น้อยมากเมื่อเทียบกับธุรกิจอื่นๆ อีกทั้งบางเว็บไซต์มีระบบร้านค้าออนไลน์ให้ใช้บริการฟรี ทำให้เราสามารถจัดการข้อมูลต่างๆ ได้ด้วยตนเอง ประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนของการจ้างพนักงาน หรือการสต็อกสินค้า และที่สำคัญ หากเว็บไซต์เราดูดี ก็ยิ่งเป็นส่วนที่ทำให้เพิ่มความน่าเชื่อถือต่อเว็บไซต์และเพิ่มความต้องการในการซื้อสินค้าอีกด้วย

2. เปิดค้าขายได้ 24 ชั่วโมง ลูกค้าสามารถเข้าถึงได้ตลอดเวลา

การซื้อขายสามารถทำได้ตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจากมีระบบอัตโนมัติคอยช่วยเหลือ ขณะที่ธุรกิจทั่วไปต้องมีหน้าร้านเป็นหลักเป็นแหล่ง ทำให้ขายลูกค้าได้ไม่กี่กลุ่ม และการเปิดขายตลอด 24 ชั่วโมงต้องใช้ต้นทุนแรงงานมาก

3. เพิ่มโอกาสในการขาย เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายขนาดใหญ่ทั่วโลก

ช่องทางนี้สามารถเข้าถึงผู้คนได้ทั่วโลกด้วยระบบอินเทอร์เน็ต เพราะฉะนั้นเราก็สามารถขายของได้ทั่วโลกโดยไม่มีข้อจำกัด แต่ก็ขึ้นอยู่กับความรู้เรื่องพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายของผู้ประกอบการด้วย

4. มีเครื่องมือที่เอื้อต่อการสื่อสาร โต้ตอบกับลูกค้า และง่ายต่อการประชาสัมพันธ์

สามารถทำงานได้แบบ Real Time ขณะที่ธุรกิจทั่วไปอาจมีประสิทธิภาพในการติดต่อสื่อสารที่ช้ากว่า เช่น สินค้าหมดแต่ไม่สามารถแจ้งลูกค้าได้ เนื่องจากข้อมูลสต็อกสินค้าไม่อัพเดต เมื่อลูกค้ามาที่ร้านก็ทำให้เสียเวลาเดินทาง และอาจเสียลูกค้าไปด้วยเพราะทำให้เกิดความไม่พอใจ ขณะที่ธุรกิจ E-Commerce ลูกค้าสามารถเช็คได้ทันทีว่ามีสินค้าหรือไม่ ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้มากกว่า

5. ทำการตลาดได้อย่างแม่นยำ และสามารถวัดผลได้

สามารถใช้เว็บไซต์ขายสินค้าและโชเชียลมีเดียเก็บข้อมูลลูกค้ารวมถึงผู้เยี่ยมชม และนำไปใช้ในการทำการตลาดออนไลน์ได้ตรงเป้าหมาย อีกทั้งยังมีระบบที่สามารถตรวจสอบประสิทธิภาพได้ซึ่งต่างจากการลงโฆษณาในสื่อออฟไลน์ เช่น โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าทั้ง E-Commerce และธุรกิจทั่วไปก็มีข้อโดดเด่นแตกต่างกัน แต่ E-Commerce นั้นเหมาะสำหรับผู้เริ่มต้นธุรกิจมากกว่า เพราะถึงต้องใช้ต้นทุนทางเทคโนโลยี แต่ก็มีแพลตฟอร์มออนไลน์หลายแห่งที่สามารถใช้บริการโดยเสียเงินหรือเสียแต่น้อยมาก ทำให้สามารถเริ่มต้นโปรโมตร้านให้คนทั่วไปรู้จักได้เร็วกว่าการทำธุรกิจทั่วไป อย่างไรก็ตามถ้าทำธุรกิจออนไลน์ควบคู่กับการทำธุรกิจทั่วไป คือ มีหน้าร้าน ก็จะทำให้ลูกค้ามีความเชื่อถือในธุรกิจมากกว่า เพราะสามารถเห็นสินค้าจริงได้นั่นเอง